

ยุทธศาสตร์ The Six
ความมั่นคงคือเป้าหมาย , ปราบภัยและผองพาล , บริการคนเข้าเมือง
ลือเลื่องความยุติธรรม , คุณธรรมนำหน้า , พัฒนาสู่อาเซียน
พันธกิจ
1. ตรวจคัดกรองบุคคลและยานพาหนะทุกประเภทที่ผ่านเข้า – ออก ราชอาณาจักร
2. บริการคนเข้าเมืองตามนโยบายของรัฐ ส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน และการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
3. ตรวจสอบและดูแลคนเข้าเมืองที่พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักร
4. ป้องกันปราบปรามการกระทำผิดของคนเข้าเมือง รวมทั้งอาชญากรรมข้ามชาติในรูปแบบต่างๆ
นโยบายเน้นหนักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 (หลัก 6 ประการ)
1. ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยในราชอาณาจักร
1.1 การรักษาสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การจงรักภักดีต่อสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการถวายความปลอดภัย การอำนวยความสะดวกด้านพิธีการเข้าเมืองแด่องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ อย่างสมพระเกียรติ
1.2 การสกัดกั้นคนไม่ดีไม่ให้เข้าประเทศ พัฒนาระบบงานตรวจคนเข้าเมืองในความรับผิดชอบของด่านตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศให้มีความพร้อมสูงสุด ในการปฏิบัติภารกิจด้านการสกัดกั้นคนไม่ดีไม่ให้เดินทางเข้าประเทศตามบทบัญญัติของกฎหมาย
1.3 การควบคุมคนเข้าเมือง จัดระบบการแจ้งที่พักของคนต่างด้าวตามความในมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ให้เป็นปัจจุบัน และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
1.4 การผลักดันและส่งกลับ ดำเนินการจัดทำและเชื่อมโยงฐานข้อมูลของคนต่างด้าวต้องห้ามเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรให้เป็นปัจจุบัน และกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมในการดำเนินการส่งกลับ รวมทั้งกวดขันการปฏิบัติงานของสถานกักตัวคนต่างด้าว เพื่อรอการส่งกลับทุกแห่งให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตามหลักสิทธิมนุษยชนโดยเคร่งครัด
1.5 การพัฒนาระบบควบคุมสั่งการ พัฒนาศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองให้มีศักยภาพในการเป็นศูนย์ควบคุมสั่งการของผู้บังคับบัญชาและฝ่ายอำนวยการ โดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีความทันสมัยและทันสถานการณ์ (realtime) รวมทั้งสร้างเครือข่ายของศูนย์ควบคุมสั่งการให้เชื่อมโยงทุกกองบังคับการและทุกด่านตรวจคนเข้าเมือง
1.6 สนองตอบนโยบายของรัฐด้านการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวให้เป็นไปตาม นโยบายของรัฐบาลอย่างจริงจัง และเกิดประสิทธิผล
2. ด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม
2.1 การป้องกันปราบปรามองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ สกัดกั้น ป้องกันและปราบปรามองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานตำรวจ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการปฏิบัติงาน
2.2 การสร้างเครือข่ายป้องกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อาทิ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาครัฐ ในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติในเชิงบูรณาการและการแก้ไขปัญหาที่ถูกจุดตรงตามความต้องการของสังคม
2.3 การประชาสัมพันธ์เชิงรุก ใช้วิธีการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อรณรงค์ขอความร่วมมือและผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนของสังคม ในการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยสนับสนุนให้หน่วยงานระดับกองกำกับการ และด่านตรวจคนเข้าเมืองทุกแห่ง จัดทำเว็บไซต์ของตนเอง โดยกำหนดให้จัดทำเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ที่จำเป็น เช่น ภาษาพม่า ภาษาลาว ภาษากัมพูชา ภาษามาเลเซีย เป็นต้น
3. ด้านการบริการคนเข้าเมือง
3.1 การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการขยายตัวของท่าอากาศยาน มุ่งสนองตอบต่อนโยบายรัฐบาบในด้านการพัฒนาศูนย์กลางการบินในภูมิภาค (Aviation Hub) โดยเตรียมความพร้อมด้านกำลังพล งบประมาณ และพัสดุ เพื่อให้เพียงพอต่อการปฏิบัติให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยถือว่าเป็นความสำคัญเร่งด่วน
3.2 การพัฒนาคุณภาพการให้บริการ พัฒนาระบบงานขออยู่ต่อในราชอาณาจักร การเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตรา การขอมีถิ่นที่อยู่ การทะเบียนคนต่างด้าว การพิสูจน์สัญชาติ และการขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival) โดยพยายามลดขั้นตอนระยะเวลาในการปฏิบัติ หรือการนำเสนอ รูปแบบการให้บริการแบบ One Stop Service หรือหน่วยบริการเคลื่อนที่ให้เป็นไปตามแนวทาง การพัฒนาคุณภาพการให้บริการภาครัฐของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) และพระราชกฤษฎีกาบริการจัดการบ้านเมืองที่ดี
3.3 E-Service การพัฒนาวิธีการทำงานด้านการบริการคนเข้าเมืองให้ก้าวไปสู่การให้บริการโดยใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Service) อาทิ ระบบการแจ้งที่พักอาศัย ระบบการตรวจสอบหมายจับ รวมทั้งการส่งเสริม สนับสนุนให้ด่านตรวจคนเข้าเมืองต่าง ๆ ริเริ่มเสนอโครงการให้บริการในเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม
4. ด้านการอำนวยความยุติธรรม
4.1 ดำรงตนในยุติธรรม พัฒนาการทำงานของกลุ่มงานสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ทั้งในด้านการเพิ่มพูนความรู้ การตรวจสอบคุณธรรมและจริยธรรมของพนักงานสอบสวน การปรับปรุงอาคารสถานที่ ณ จุดบริการประชาชน การสนับสนุนด้านยานพาหนะ พัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน เพื่อให้มีความพร้อมในการอำนวยความยุตธรรมแก่ประชาชน และผู้มาติดต่อราชการ
4.2 การปฏิรูปกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ ตรวจสอบติดตาม (Monitoring) บทบัญญัติของกฎหมาย ตลอดจน ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับประชาคมอาเซียน
5. ด้านการบริหาร
5.1 การใช้ระบบคุณธรรม นำระบบคุณธรรม (Merit System) มาใช้เป็นหลักในการบริหารจัดการ โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนคนดีให้มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ เพื่อพัฒนาผู้นำองค์กรรุ่นต่อไปให้มีความพร้อมทั้งในด้านความรู้ ความสามารถ เป็นที่ยอมรับของสังคม
5.2 ยึดหลักธรรมาภิบาลและการทำงานโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ ยึดหลักธรรมาภิบาลในการทำงานและสร้างระบบการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงานทั้งในระดับหน่วยงาน และรายบุคคลอย่างเที่ยงธรรม เพื่อให้การทำงานเป็นไปตามเป้าหมาย และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างเป็นรูปธรรม
5.3 สร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ ปรับปรุงการทำงานของศูนย์ฝึกอบรม สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองให้มีบทบาทสำคัญและเป็นแกนนำในด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการทำงาน โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นและเกี่ยวข้องตลอดจนการกำหนดสมรรถนะหลักขององค์กร (Core Competency) อาทิ การกำหนดมาตรฐานองค์ความรู้พื้นฐานด้านกฎหมาย ด้านภาษาต่างประเทศ และด้านคอมพิวเตอร์ ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม
5.4 สร้างความโปร่งใส เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามาตรวจสอบการทำงานเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และจัดให้มีการสำรวจทัศนคติของประชาชนผู้มาติดต่อราชการโดยหน่วยงานภายนอก เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นของสังคม และนำข้อมูลที่ได้รับไปใช้ในการพัฒนาการทำงานต่อไปในอนาคต
6. ด้านการรองรับประชาคมอาเซียน
6.1 การเตรียมการด้านโครงสร้าง สำรวจและคาดการณ์ปริมาณงานในอนาคตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายหลังการเปิดประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนด้านปรับโครงสร้างหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด่านตรวจคนเข้าเมือง ที่เป็นช่องทางผ่านของเส้นทางคมนาคมสายหลักระหว่างประเทศทั้งทางบกและทางน้ำ เพื่อเสนอแผนในการปรับโครงสร้างให้เหมาะสมและเพียงพอต่อการทำงาน
6.2 การเตรียมการด้านกำลังพล ทำการศึกษาและคาดการณ์ปริมาณของคนต่างด้าวที่จะมีการเดินทางผ่านช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมืองทุกแห่ง (Free Flow of Human) เพื่อนำไปวิเคราะห์ปริมาณงาน (Work Load) ให้เหมาะสม สามารถจัดเตรียมกำลังพลให้เพียงพอสำหรับช่องตรวจหนังสือเดินทาง
6.3 การเตรียมการด้านวัสดุ อุปกรณ์และเทคโนโลยี เชื่อมโยงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้ครอบคลุมทุกด่านตรวจคนเข้าเมือง เพื่อให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการตรวจคนเข้าเมือง ตลอดจนให้การสนับสนุนเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นและเพียงพอต่อการปฏิบัติงาน